ความรู้เกี่ยวกับประกันภัยรถยนต์

จุดประสงค์ของการทำประกันภัยรถยนต์

1.เพื่อเป็นสวัสดิสงเคราะห์ที่รัฐบาลมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเหตุประสบภัยจากรถยนต์

2.เพื่อเป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ในการรับรักษาพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์

3.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประกันภัยรถยนต์เข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ที่ประสบภัยและครอบครัว

4.เพื่อให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องมาจากประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือช่วยค่าปลงศพกรณีที่เสียชีวิต

ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ

ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.  เป็นการบังคับให้ยานพาหนะทางบกทุกประเภทที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำ เพื่อให้ความคุ้มครองทั้งตัวบุคคลจากผลกระทบของอุบัติเหตุ โดยไม่คำนึงว่าบุคคลที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุจะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ โดยกฎหมายจะให้ความคุ้มครองในรูปของเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาลตามที่กฎหมายเป็นคนกำหนด  ในส่วนของผู้ได้รับความคุ้มครองนั้น ได้แก่ ประชาชนทุกคนที่ประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ขับขี่เอง หรือผู้โดยสาร รวมไปถึงคนเดินเท้าตามท้องถนนด้วยนั้นเอง  ซึ่งหากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย ที่เนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.นี้ และยังรวมไปถึงทายาทผู้ประสบภัย ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิตนั้นเอง   การฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถยนต์ พ.ศ.2535 ซึ่งได้มีการกำหนดให้ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  โดยมีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยสูงสุดเป็นอัตราเดียวตามประเภทของรถ อย่างเช่น รถเก๋งไม่เกิน 7 ที่นั่ง จะต้องชำระอัตราเบี้ยประกันภัยโดยประมาณ 800 บาท , รถกระบะ จะต้องชำระอัตราเบี้ยประกันภัยโดยประมาณ 1,000 บาท , รถตู้ จะต้องชำระอัตราเบี้ยประกันภัยประมาณ 1,200 บาท และในส่วนของรถจักรยานยนต์ จะต้องชำระอัตราเบี้ยประกันภัยโดยประมาณ 160-650 บาท ซึ่งจะคิดตามขนาดของความจุกระบอกสูบหรือที่เรียกกันว่า ซีซี เครื่องยนต์นั้นเอง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างมากที่เจ้าของรถยนต์ทุกคันต้องทำประกัน